ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่แก่ 2 เมืองชายฝั่งอ่าวไทยที่ตั้งอยู่บนเส้นละติจูดเดียวกัน เพื่อให้เป็น “เมืองคู่แฝด” คนละฟากฝั่งทะเล
เมืองนางรม กลายเป็น “ประจวบคีรีขันธ์” อยู่ทางฝั่งตะวันตก และเกาะกง กลายเป็น “ประจันตคีรีเขตร” อยู่ทางฝั่งตะวันออก โดยมีประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2398
นับแต่วันนั้น เมืองทั้งสองจึงมีชื่อที่คล้องจองกัน เป็นสัญลักษณ์แห่งการเชื่อมโยงของดินแดนฝั่งสยามในอดีต… แต่แล้วเรื่องราวกลับพลิกผันตามกระแสการเมืองโลก
ฝรั่งเศสกับแผนรุกคืบดินแดน
หลังจากฝรั่งเศสยึดเวียดนามและกัมพูชาไว้ได้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พวกเขาเริ่มขยายอิทธิพลเข้าสู่ลาวและดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ในการปกครองของสยาม
วิกฤตการณ์ครั้งสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 (ร.ศ. 112) เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้าสถานกงสุลในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งเสริมกำลังด้วยเรือรบจากไซ่ง่อนรวม 12 ลำ และยึดเกาะสีชัง ทำให้การค้าต้องหยุดชะงัก รัฐบาลสยามถูกบีบบังคับให้ยอมถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง วางเงินค่าปรับ 3 ล้านฟรังก์ และต้องตอบรับภายใน 48 ชั่วโมง
แม้จะรู้ว่าไม่ยุติธรรม แต่สยามไม่อาจต้านทานได้ และต้องลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2436
แลกดินแดนเพื่อรักษาอธิปไตย
เพื่อบีบให้สยามปฏิบัติตามสัญญา ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาแม้การปักปันเขตแดนจะเสร็จสิ้นแล้ว ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมถอนตัว หากไม่ได้ดินแดนเพิ่มเติมอีก
สุดท้าย สยามจำต้องลงนามในสัญญาอีกฉบับเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2446 ยอมยกเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ เพื่อแลกกับการถอนทหารจากจันทบุรี
แต่ฝรั่งเศสยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น พวกเขาขอแลกเอาดินแดนฝั่งตะวันตกเพิ่มอีก โดยยึด “ตราด” และ “เกาะกง” ซึ่งในขณะนั้นมีสถานะเป็นจังหวัดในเขตสยามคือ “จังหวัดประจันตคีรีเขตร” เอาไว้ก่อน เพื่อใช้ต่อรองอีกครั้ง
เสียมราฐแลกตราด เกาะกงไม่คืน
ในที่สุด สยามกับฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงครั้งใหญ่ในวันที่ 23 มีนาคม 2449 ยินยอมแลก มณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วย พระตะบอง, เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อขอคืนจังหวัดตราด รวมถึงหมู่เกาะตั้งแต่แหลมสิงห์ถึงเกาะกูด
แต่ฝรั่งเศส ไม่ยอมคืนเกาะกง หรือ “ประจันตคีรีเขตร” แก่สยาม
นับแต่นั้นมา เมืองคู่แฝดของ “ประจวบคีรีขันธ์” ก็หลุดจากแผ่นดินไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาอย่างถาวร
จากเมืองในไทย กลายเป็นเมืองในเขมร
หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ชาวไทยในเกาะกงจำนวนไม่น้อยอพยพไปอยู่เกาะกูดและจันทบุรี ขณะที่เขมรจากเมืองอื่นๆก็ย้ายเข้ามาแทน
ในปี 2506 รัฐบาลกัมพูชาออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย หากฝ่าฝืนจะถูกปรับ 25 เรียลต่อคำ และในปีถัดมาเพิ่มค่าปรับเป็น 50 เรียล ห้ามใช้เงินไทย และห้ามครอบครองหนังสือภาษาไทย หากพบจะถูกยึดและเผาทำลาย
แม้จะถูกจำกัดสิทธิด้านภาษาและวัฒนธรรม แต่ชาวไทยในเกาะกงจำนวนหนึ่งยังคงรักษาภาษาและประเพณีไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีคนไทยหลงเหลืออยู่ราว ร้อยละ 25 ของประชากรเกาะกงเท่านั้น
เมืองฝาแฝดที่เหลือแค่ชื่อ
“ประจันตคีรีเขตร” เคยเป็นเมืองหนึ่งของไทยที่มีสถานะคู่แฝดกับ “ประจวบคีรีขันธ์” โดยพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 แต่ประวัติศาสตร์กลับทำให้เมืองฝั่งตะวันออกนี้หลุดลอยไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ทุกวันนี้ เหลือไว้เพียงชื่อที่จารึกในเอกสารและความทรงจำ เป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียดินแดน และบทเรียนแห่งการทูตในยุคล่าอาณานิคม