วันที่ 17 สิงหาคม 2567 จากประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 โดยหนึ่งในรายชื่อคือ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับอภัยโทษ พ้นโทษทันที ไม่ต้องรอถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ฉบับนี้
ในประกาศฉบับนี้ระบุว่า …พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 135 และมาตรา 199 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ประมาณ 50,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ ตามมาตรา 5 นอกจากนี้ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวอีกกว่า 200,000 ราย
สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะได้พ้นโทษเป็นอิสระทันที ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค.2567 เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ฉบับนี้
ซึ่งระบุว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป
(1) ผู้ต้องกักขัง
(2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
(3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ