วันที่ 17 ส.ค. สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมออกแถลงการณ์ การใช้อำนาจคุกคามสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว โดยแถลงการณ์ได้ระบุว่า
“ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์คุกคามสื่อมวลชนในระหว่างการปฏิบัติงานสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อ”แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”ภายหลังรับทราบมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ซึ่งองค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์ปกป้องการทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และแสดงความกังวลต่อพฤติกรรมดังกล่าวไปแล้วนั้น ซึ่งภายหลังได้รับทราบข่าวสารการดำเนินการติดต่อชี้แจงจากทีมงานหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการพูดคุยหยอกล้อกันเล่นด้วยความคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนานกันผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงรายดังกล่าวนั้น
สภาวิชาชีพข่าววิทยและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ติดตามตรวจสอบด้วยความห่วงใยแล้วเห็นว่าจากคลิปภาพเหตุการณ์ยืนยันยันอย่างชัดแจ้งว่าเป็นการแสดงอาการโกรธเกรี้ยวในลักษณะคุกคามผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามสัมภาษณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่าปกติวิสัยของการพูดคุยหยอกล้อกันด้วยความคุ้นเคยตามที่ทีมงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าวอ้างและพยายามให้เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ยุติลง ซึ่งหากสังคมปล่อยผ่านเรื่องราวดังกล่าวไปเฉกเช่นที่เคยมีการให้สัมภาษณ์ดูแคลนสื่อมวลชนว่าจบมาจากสถาบันการศึกษาใดเพื่อส่งผลต่อการด้อยค่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะดำเนินการยื่นตรวจสอบด้านจริยธรรมว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2563 อย่างน้อย 2 ข้อได้แก่ ประมวลจริยธรรมฯข้อ 12 ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยา หรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ และข้อ 13 ต้องไม่แสดงอาการข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย หรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีของการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปวงชนชาวไทย และเป็นการปกป้องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อไป”