นิด้าโพล เผยผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง ไตรมาส 2 “ก้าวไกล-พิธา” ครองอันดับ 1 ประชาชนสนับสนุนมากที่สุด “เศรษฐา” คว้าอันดับ 3
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน
อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ
อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา
ร้อยละ 3.40 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ)
พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.20 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 15.00 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 7.55 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์
อันดับ 6 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 8 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.05 ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี และร้อยละ 1.10 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ