ความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างแดนมักเป็นที่สนใจของคนไทยในประเทศและในโลกออนไลน์ แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีช่วยทำให้การติดต่อสื่อสารของคนไกลบ้านทำได้สะดวกขึ้น หญิงไทยเหล่านี้ได้ผันตัวเอง มาเป็น “ยูทิวบ์เบอร์” เล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวในต่างแดน ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน การปรับตัว การทำอาหาร การปลูกผักสวนครัว ไปจนถึงการสอนภาษา
เบื้องหลังวิดีโอต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจนั้น ล้วนมีที่มาที่ไป และเหตุผลในการเป็นยูทิวบ์เบอร์ที่ต่างกัน แต่ความรู้สึกที่จับต้องได้จากสิ่งที่พวกเธอสะท้อนออกมาคือ “ความสุข” ที่หาได้ หากไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
“กินไปไทยหรั่ง” จุดเริ่มต้นของยายนาง
คนทั่วไปคงรู้สึกเขินอายหากมีคนมานั่งจ้องเวลากินอาหาร แต่หากคนกินมองไม่เห็นคนดูเหล่านั้นมีเพียงอีกฝ่ายที่ได้แต่มอง แต่สัมผัสไม่ได้ล่ะ
วิดีโอในช่องยูทิวบ์ กินไปไทยหรั่ง ตอนที่ “ยายนาง” ชวนลูกสาวลูกชายมานั่งกินส้มตำปูสด กับเนื้ออบ ที่โพสต์มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้มีคนดูกว่า 2.2 ล้านคน แต่นั่นก็ไม่เท่ากับตอนที่เธอโชว์วิธีกะเทาะเปลือกหอยนางรมยักษ์และนั่งกินกับเครื่องเคียงและส้มตำแซ่บ ๆ มีคนดู 3 ล้านกว่าคน แม้จะเพิ่งโพสต์ไปเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง
คลิปนั้น ยายนางหรือจันทร์เพ็ญ ค็อบบอก รู้สึกเผ็ดจนซี๊ดปาก เชื่อว่าคนนับล้านที่นั่งดูคงน้ำลายสอพอกัน
จันทร์เพ็ญ เกิดที่ขอนแก่น โตที่อุดรธานี และตามครอบครัวไปอยู่ที่พัทยา ด้วยมุมมองการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ทำให้แม่บ้านธรรมดาอย่างเธอ กลายเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กกว่า 1 ล้านคน
ในปี 2539 ยายนางพบรักกับสามีชาวเดนมาร์กและย้ายไปอยู่ที่นั่น ก่อนหน้านั้นเธอมีลูกชายกับสามีเก่าชาวไทยที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็งสมอง
ตอนย้ายมาเดนมาร์กใหม่ ๆ ยายนางต้องเรียนภาษาตามข้อกำหนดของรัฐบาล แต่เธอยังเลือกสอบเทียบเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา ม.3 ของที่นั่น เวลานั้นเธอตั้งท้องลูกสาวด้วย
การเรียนภาษาที่ใช้เวลา 2-3 ปี กับภาระเลี้ยงดูลูกสาว ทำให้ยายนางไม่มีเวลาหารายได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ยังต้องจุนเจือครอบครัวทางเมืองไทยและลูกจากสามีคนแรก บวกกับความไม่เข้าใจกันในเรื่องวัฒนธรรม ทำให้ชีวิตคู่ของเธอกับสามีจึงต้องจบลงหลังอยู่กันได้เพียง 3 ปี
ขวนขวายเพื่อสร้างอนาคตใหม่
ก่อนย้ายไปเดนมาร์ก ยายนางประสบอุบัติเหตุร้ายแรงทำให้กระดูกคอกระทบกระเทือนอย่างหนัก จนทำงานหนักไม่ได้เหมือนปกติ หน่วยงานจัดหางานที่นั่นรับรู้ข้อจำกัดนี้
“ปัญหาสุขภาพของยายนี่แหละ ทำให้ได้ไปฝึกงานในหลายที่ ไปเริ่มต้นใหม่ตลอดเวลา ได้รู้จักคนนั้นคนนี้ เลยทำให้ยายไม่กลัวคน ไม่อาย กล้าพูด เลยมีส่วนผลักดันให้เรามีทุกวันนี้”
ความเป็นคนใฝ่รู้ ยายนางไปเรียนเป็นผู้ช่วยนักโภชนาการนาน 2 ปี แต่เพราะปัญหาสุขภาพทำให้ไม่มีโอกาสทำงานในโรงครัวของโรงพยาบาลหรือโรงเรียนได้อย่างที่หวัง
จุดเริ่มต้นของการเป็นยูทิวบ์เบอร์
เมื่อกลับมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ยูทิวบ์ไม่เพียงเป็นเพื่อนคลายเหงา โดยเฉพาะช่องทำอาหาร แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเปิดวิดีโอตัวแรกเมื่อปี 2558
“ช่วงว่างงานนี่แหละที่ทำให้ได้หันมาดูยูทิวบ์ เห็นคนทำอาหารหลาย ๆ คน เช่น แม่แหม่ม (เจ้าของช่องยูทิวบ์)ที่ญี่ปุ่น เห็นเขาเป็นคนไทย เราก็น่าจะทำได้เหมือนกัน มีสิ่งที่อยากบอกเหมือนกัน แต่ไม่เคยรู้ว่ายูทิวบ์ได้เงิน (หัวเราะ)”
วิดีโอของยายนางจะเน้นพูดคุยในสิ่งที่ถนัด อย่างการประยุกต์วัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารไทยในต่างแดน การทานอาหารพร้อมพูดคุยเรื่องทั่วไป การพาชมบรรยากาศของเดนมาร์ก ไปจนถึงวิธีการเก็บรักษาวัตถุดิบ
คำบรรยายภาพ,ช่องยูทิวบ์ “กินไปไทยหรั่ง” จะมีการสอนทำอาหารและการกินอาหารไทยและต่างชาติหลากหลาย พร้อมทั้งคำบรรยายภาษาอังกฤษด้วย
“เรียนรู้มาจากฝรั่งคนหนึ่งว่าถ้าอยากให้โลกจำ คุณต้องทำอะไรก็ได้ที่ไม่เหมือนคนอื่น บอกตัวตนเราให้ดูฉันว่าฉันอยู่นี่นะ แล้วหลังจากนั้นคอนเทนต์อื่น ๆ ค่อยตามมา ก็เลยกินก๋วยเตี๋ยวชามยักษ์ โลกก็เลยจำเลยค่ะ (หัวเราะ)”
ยายนางเริ่มฝึกฝนการตัดต่อแบบง่าย ๆ ศึกษาระบบเสียงเพื่อเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม เรียนรู้จากช่องที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันเธอใช้กล้องดิจิตอลถ่ายคลิปเพื่อให้คนดูได้ชมวิดีโอที่กระชับ และมีคุณภาพ จากเดิมที่ถ่ายทำด้วยกล้องโทรศัพท์
“ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วจะทำได้ทุกวัน ให้ความรู้ ไม่ต้องคิดว่าทำคลิปแล้วจะต้องได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ให้คิดว่าคนดูได้อะไรดี ๆ จากเรา แล้วเงินก็จะตามมาเอง”