ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความน่าตกใจ โดย ดร.ธรณ์ ระบุว่า Global Warming kills them all หญ้าทะเลหายไปเป็นหมื่นๆ ไร่ พะยูนล้มตายดุจใบไม้ร่วง แค่ 22 เดือนตายไปแล้ว 70 ตัว
ข้อมูลที่เพื่อนธรณ์เห็นคือสถิติพะยูนตาย รวบรวมโดยกรมทะเล/กรมอุทยาน
เป็นกราฟที่ดูง่ายมาก แบ่งเป็น 2 ช่วง ภาวะปรกติ (2548-2561) พะยูนตายเฉลี่ย 13 ตัวต่อปี จำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นช้าๆ
จากนั้นคือภาวะโลกเดือด เกิดวิกฤตหญ้าทะเลตาย แบ่งเป็น 2 ย่อย ปี 2562-2565 หญ้าในจังหวัดตรังเริ่มลดลง พะยูนเริ่มตายมากกว่าค่าเฉลี่ย (20.25 ตัว)
ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเป็นกังวล เพราะจำนวนตายมากกว่าอัตราเกิด หากไม่อยากให้จำนวนพะยูนลดลง ขีดจำกัดคือห้ามตายเกิน 17 ตัว
เราทำหลายอย่างลุล่วง เช่น แผนพะยูนแห่งชาติ ประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยกระดับการสำรวจวิจัยช่วยชีวิต ฯลฯ
ทั้งหมดมีส่วนช่วยประคับประคอง แต่โลกเดือดไม่หยุด รุนแรงหนักขึ้น หญ้าทะเลตายเป็นพื้นที่กว้าง ทั้งจังหวัดตรัง กระบี่ และสตูล
ความตายยังเริ่มลามไปตามพื้นที่ใกล้เคียง
พะยูนกินหญ้าเป็นอาหารหลัก แม้กินอย่างอื่นได้บ้าง เช่น สาหร่าย แต่พะยูนไม่ได้ปรับตัวง่ายขนาดนั้น
พะยูนส่วนหนึ่งยังสู้ตายอยู่ที่เดิม อีกส่วนอพยพจากตรัง ส่วนหนึ่งขึ้นเหนือไปกระบี่-ภูเก็ต อีกส่วนลงใต้ไปสตูล
แต่จะไปไหน ความตายก็ติดตามไป วิกฤตหญ้าทะเลแผ่ขยายเป็นวงกว้าง
พะยูนที่ขึ้นเหนือไปสุดที่เกาะภูเก็ต/อ่าวพังงา เลยไปเป็นชายฝั่งเปิดโล่งของท้ายเหมือง/เขาหลัก ไม่มีหญ้าทะเลระหว่างทาง พะยูนไม่ชอบฝั่งที่มีคลื่นลมแรงแบบนั้น
พะยูนลงใต้ไปสตูล สุดชายแดนคือมาเลเซีย แต่แหล่งหญ้าทะเลขาดช่วง อาจมีบ้างที่ข้ามพรมแดนไป แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย
พะยูนจึงติดอยู่ในกับดักแห่งความตาย หญ้าทะเลหมดไปเรื่อยๆ อาหารแทบไม่เหลือ
ข้อมูลจากกรมทะเลพบว่า พะยูนผอมลงอย่างเห็นได้ชัด หลายตัวป่วย จากนั้นก็จากไป
บางส่วนที่หนีไปแหล่งใหม่ ไม่คุ้นเคยอะไรเลย คนในพื้นที่ก็ไม่คุ้นกับที่จู่ๆ มีพะยูนเพิ่มขึ้นกระทันหัน
ความตายจึงเกิดขึ้น เรือชน ติดเครื่องมือประมง ฯลฯ ขณะที่เราพยายามใช้มาตรการต่างๆ พูดคุย แจ้งเตือน ขอร้อง
แต่ทุกอย่างเร็วมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการรับมือของเราในปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นนรก
ปี 66 พะยูนตาย 40 ตัว
ปี 67 พะยูนตาย 30 ตัว (ถึงวันที่ 23 ตค.)
ยังเหลืออีก 2 เดือนเศษ ไม่รู้ว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือค่าเฉลี่ยตอนนี้สูงถึง 35 ตัว/ปี มากเกิน 2 เท่าของภาวะปรกติ (13 ตัว/ปี) และมากขึ้นกว่าช่วงแรกของโลกร้อนอย่างเห็นได้ชัด (20 ตัว/ปี)
ที่สำคัญ ตัวเลข 35 ตัว/ปี มากกว่าขีดจำกัดพะยูนตาย 2 เท่า (17 ตัวต่อปี)
หมายความว่าอย่างไร ?
คำตอบง่ายๆ คือจำนวนพะยูนกำลังลดลงแบบดิ่งนรก เมื่อพ่อแม่ตาย อัตราเกิดยิ่งลดลง มันเด้งไปมา
ความเป็นไปได้ที่พะยูนในอันดามันจะเหลือเพียงน้อยนิด เป็นไปได้ในเวลาแค่ 7-8 ปีต่อจากนี้
น้อยนิดไม่ใช่หมด พะยูนคงไม่สูญพันธุ์จากอันดามัน เพราะเหลือ 1 ตัวก็ไม่เรียกว่าสูญพันธุ์
แต่โอกาสที่เราจะมีพะยูนในอันดามันเกิน 200 ตัวเหมือนในอดีต คงไม่มีอีกแล้ว อย่างน้อยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
ผมคิดว่าอีก 5-6 ปี ตัวเลขจากหลักร้อยจะเหลือหลักสิบ และจะคงตัวอยู่แถวนั้น เพราะหญ้าทะเลไม่ได้หมด แต่เหลือหรอมแหรม พอให้พะยูนหลักสิบกินได้
และนั่นคือความพินาศที่แท้จริงของพะยูนไทย อยู่กันมาเนิ่นนานเป็นร้อยๆ ปี ไม่เคยมีครั้งไหนที่พินาศในระดับนี้
ecosystem collapse คือความเสี่ยงอันดับ 3 ของโลกยุคปัจจุบัน/อนาคต
ตัวอย่างเป็นเช่นไร เมืองไทยเสี่ยงแค่ไหน
ทุกคำถามตอบได้ในเรื่องที่เพื่อนธรณ์เพิ่งอ่านไป
ความโหดร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราแทบจะไม่รู้ว่าจะทำยังไง สู้ยังไง ในเมื่อความพินาศเกิดจากน้ำมือของคนทั้งโลก
เราก็คงต้องพยายามทำให้ดีที่สุด สำรวจพื้นที่พะยูนอยู่ใหม่ เร่งพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้คน ลดผลกระทบ หาทางฟื้นฟูหญ้าทะเลทั้งที่ความหวังริบหรี่
ทำเช่นนั้นเท่าที่ทำได้ ระหว่างน้ำตาตกใน
พร่ำบอกมาตลอด โลกร้อนมันโหดร้าย มันฆ่าปะการัง ฆ่าหญ้าทะเล ฆ่าน้องพะยูน
และกำลังฆ่ากำลังใจของคนรักทะเลไทยให้หมดไปอย่างช้าๆ
มันฆ่า… ทว่า “มัน” เริ่มต้นมาจากใคร
และสุดท้าย มันจะฆ่าผู้ให้กำเนิดมัน !
จะมีครั้งไหนที่คน บนผืนบนแผ่นดิน
โหดร้ายหัวใจทมิฬ แผ่นดินถูกพังยับเยิน
(ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า – เฉลียง)